Friday, August 31, 2007

วันเดินทางกลับ


เราออกเดินทางจากที่พักที่มหาลัย OSU ที่ Okmulgee ตั้งแต่เวลาก่อนตีสี่ เพื่อเดินทางไปขึ้นเรือบินที่เมือง Tulsa มีวิกกี้ แบรนด้า และริกซ์ขับรถมาส่ง มีโทมัสตามมาเจอพวกเราที่สนามบิน

หลังจากโหลดกระเป๋าแล้ว ระหว่างรอขึ้นเรือบินที่สนามบิน Tulsa

เราออกเดินทางจาก Tulsa สู่เมือง Denver รัฐ Colorado เหมือนกับขามา
แล้วต่อเรือบินจาก Denver สู่ Sanfrancisco
ช่วงที่จะลงที่เมืองซานฟรานก็มีเรื่องตื่นเต้นให้พวกเรานิดหน่อยเพราะเรือบินลงไม่ได้เนื่องเมฆทึบหนาและลอยต่ำ
เรือบินเราเบาเครื่องร่อนฝ่าเมฆลงไป แล้วกัปตันก็ตัดสินใจเร่งเครื่องบินขึ้นไปใหม่ ต้องตีวงวนมาลงครั้งที่สองจึงลงได้




เราออกเดินทางจากซานฟรานเวลาบ่ายโมงครึ่ง บิน 11 ชั่วโมง แต่มาถึงโตเกียวบ่ายสี่โมงเย็น คือเราบินตามตะวันมาตลอด มันไม่ยอมมืดเลยตลอดทาง (แต่เป็นสี่โมงเย็นของวันอังคารแล้ว เพราะเราบินข้ามเส้นแบ่งเวลามา) เราแวะที่สนามบินนาริตะประมาณ 2 ชั่วโมง ก็บินต่อไปกรุงเทพฯ ออกจากนาริตะหกโมงครึ่งตอนเย็น ช่วงเข้าสู่เมืองไทย เรือบินบินกระโดกกระเดกมาก ผมไม่ได้นั่งติดหน้าต่างเลยไม่ได้เปิดหน้าต่างดูข้างนอก แต่เข้าใจว่าเพราะคงมีฝนและอากาศแปรปรวน

หลังจากบินอย่างยาวนานน่าเบื่อหลายทอด ในที่สุด เราก็มาถึงสนามบินหนองงูเห่าิตอนสี่ทุ่มกว่าของวันอังคารที่ 28 สิงหาคม

Monday, August 27, 2007

วันแพ็คของเตรียมตัวกลับบ้าน


ผมกับอาจารย์แมรี่ หัวหน้าสาขา Visual Communacation เราไปลาแกพร้อมของฝากจากเมืองไทย

วันนี้ เป็นวันสุดท้ายของพวกเราที่ OSU. พรุ่งนี้เราจะออกเดินทางแต่เช้ามืด วันนี้เราจึงแพ็คกระเป๋ากัน










อ.แตงโมกระเป๋ามากกว่าใครเพราะแกซื้อของมาก รวมแล้วถึง 6 ใบ ขณะที่เช็คสายการบินแล้ว เค้าให้โหลดได้ 2 ใบ ถือขึ้นเครื่องได้ 2 ใบ อ.แตงโมจึงเอาของที่แกซื้อมาบางส่วนเป็นค่าจ้างอาจารย์คนอื่นที่กระเป๋าน้อย มีโควต้าเหลือเพื่อใช้โควต้าในการเอากระเป๋ากลับเมืองไทย

Oklahoma Aquarium


พวกเราไปเมือง Tulsa อีก เพื่อ shopping กินอาหารไทยที่ร้าน Bangkok restaurant ร้านเดิม จากนั้นเราไปที่ Aquarium ซึ่งดูอาคารภายนอกแล้วไม่ได้เรื่องเพราะลักษณะอาคารไม่สื่อเลยแม้แต่น้อยว่ามันคือ Aquarium



แต่ภายในใช้ได้เลยทีเดียว ทั้งการออกแบบเส้นทางสัญจร สัตว์ที่หามาจัดแสดง แสง และบรรยากาศโดยรวม






ปลานี้จำไม่ได้ว่าชื่อปลาอะไร แต่ไม่รู้ชาติก่อนมันทำกรรมอะไรไว้ ชาตินี้ต้องมาว่ายน้ำหัวทิ้มพื้นทราย ตัวแหลมและบาง




ไปกินสเต๊กส์ที่เมือง Mcalister อร่อยมาก


วันนี้ ( 26 สิงหาคม) เราไปเมือง Mcalistor ซึ่งห่างไปประมาณหนึ่งชั่วโมง เพราะผู้ปกครองของนักเรียนอีกคนหนึ่งที่กำลังจะไปฝึกงานที่เมืองไทยต้องการจะเลี้ยงพวกเรา แกมีร้านสเต๊กซ์อยู่ที่เมือง Mcalistor นี้

ร้านของแกตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ แต่งดิบ คาวบอย ตรงทางเข้าจะมีถั่วลิสงคั่ว แขกก็จะคว้าเข้าไป หรือพอไปนั่ง เค้าก็จะเอาถั่วนี้มาเสริพก่อนเลย กินแล้ว ให้ทิ้งเปลือกถั่วลงบนพื้น พื้นจะเต็มไปด้วยเปลือกถั่ว เดินไปก็จะเหยียบเปลือกถั่วดังกร๊อบแก๊บ





แกจะมีแม๊กซ์สำหรับแม๊กซ์ฝาไว้ให้แขกติดนามบัตรกับฝาผนัง

ฝาผนังร้านจึงมีนามบัตรใครต่อใครติดเต็มไปหมด

แกยังแจกเสื้อยืดให้พวกเราทุกคน

ผมเลือกกินซี่โครงวัวรมควัน อร่อยมาก กินกับมะเขือเทศและมันต้ม และขนมปังปิ้ง เครื่องดื่มเป็นน้ำชาใส่น้ำแข็ง รัฐโอกลาโฮม่านี้เป็นรัฐเดียวที่กินน้ำชาใส่น้ำแข็ง ซึ่งถูกใจพวกเรามาก เพราะคนไทยชอบกินน้ำใส่น้ำแข็ง


Sunday, August 26, 2007

Carol's house

วันนี้ (วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม) ผมกับอ.ถาวรเข้าไปที่สาขาเพื่อนำของฝากไปมอบให้อาจารย์ในสาขา และกล่าวคำอำลา อ.แกรี่ไม่สบายเข้าโรงพยาบาลก่อนหน้านี้ วันนี้แกดีขึ้นและกลับไปพักผ่อนอยู่กับบ้าน เราเลยไม่เจอแก ก็ได้ฝากเน็คไทเอาไว้ให้แก

วันนี้ Union ปิดแล้ว เพราะหมด summer แล้ว กลางวันลุงแดนนำอาหารมาส่ง ลุงแดนทำอาหารไทยมาเลี้ยงพวกเรา อร่อยมาก รสชาติดีกว่า Bangkok restuarant ที่เมือง Tulsa ซะอีก แกบอกว่าแกเริ่มทำตั้งแต่เจ็ดโมง เพื่อมาเลี้ยงเรากลางวัน



ตอนเย็นลุงแดนและวิกกี้พาเราไปกินอาหารข้างนอก จากนั้นจึงพาเราไปเที่ยวบ้านของ Carol และ Bill ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท พวกเราสนุกกันที่บ้าน Carol จนดึกจึงกลับที่พัก ถึงที่พักห้าทุ่มกว่า

กำลังตั้งกล้องถ่ายรูปหมู่

อ.ถาวรเล่นเปียโน อ.แตงโมร้อง
Carol กำลังเอารูปถ่ายออกมาอวดพวกเรา

Saturday, August 25, 2007

อินเดียนแดงแห่งโอคมัลกี้


Okmulgee ที่เป็นชื่อเมืองนี้เป็นภาษาของอินเดียนแดงเผ่า Creek แปลว่าแม่น้ำสามสาย เพราะที่นี้เป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของชนเผ่า Creek นี้ ซึ่งตั้งรกรากอยู่ที่นี้มานานแม้ปัจจุบัน มีหัวหน้าเผ่าปกครอง มีสภา มีศาลของตัวเอง ซึ่งจะว่าความทุกคดีที่เกิดขึ้นในดินแดนนี้และมีชาว creek เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

Angela อินเดียนแดงเผ่า creek กำลังเล่าให้ฟังเรื่องราวของชาว creek

วันนี้เราได้ไปเยี่ยมชมศูนย์การบริหารของ creek nation ชมพิพิธภัณท์ ชมชุมชน ชมสภาและศาลแห่ง creek nation

พิพิธภัณท์ชาว creek ซึ่งใช้อาคารเดิมของที่ทำการหัวหน้าเผ่า


ที่ประชุมสภาของชาว creek มีสมาชิกสภา 26 คนมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งช่วงนี้ใกล้วันเลือกตั้ง เราจะเห็นป้ายหาเสียงเล็กๆปักอยู่ตามข้างถนน

Advance Learning by Technology


วันนี้ ( 23 สิงหาคม ) เราไปฟังผู้อำนวยการศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ ( Technology & Learning Innovation/Computer & Information Services) พูดเรื่องราวของศูนย์ ทั้งแนวความคิดที่มีศูนย์นี้ ภาระหน้าที่ และผลการดำเนินงานที่มีผ่านมา รวมทั้งแสดงตัวอย่างของเทคโนโลยีที่นำมาช่วยในการสอน

หลักการของการมีศูนย์นี้คือ มหาลัยเห็นว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าไปเร็วมาก โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ ครูจะมีความรู้ด้านนี้ไม่ทันนักศึกษาประการหนึ่ง และการช่วยให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยประการหนึ่ง ศูนย์จะฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีให้กับอาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาลัย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน


Lori Bryant ผู้อำนวยการศูนย์ กำลังสาธิตโปรแกรมและเครื่องมือใหม่ๆที่ช่วยทำให้การสอนง่ายลง นักศึกษาเรียนสนุกขึ้น ประสิทธิภาพจะดีขึ้น

Thursday, August 23, 2007

เยี่ยมนิคมอุตสาหกรรม MidAmerica


วันนี้ ( 22 สิงหาคม ) เราเดินทางไปเมือง Pryor ซึ่งห่างออกไปประมาณ 2 ชม. เป็นที่ตั้งของ OSU อีกจุดหนึ่ง ซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา ชื่อ MidAmerica IndustrialPark เพราะจุดนี้เป็นจุดที่อยู่ศูนย์กลางของประเทศ รถบรรทุกสามารถกระจายตัววิ่งไปยังส่วนต่างๆของประเทศได้ง่ายที่สุด
สาขาของมหาลัยจุดนี้เกิดขึ้นเพื่อฝึกคนงานป้อนนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้โดยเฉพาะ เป็นการฝึกทางเทคนิคล้วนๆ ไม่มีวิชาสามัญ จบแล้วได้ประกาศนียบัตร โรงงานจะรับทันที มีให้เลือกหลายด้าน คล้ายๆสารพัดช่าง ช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างเขียนแบบ ฯลฯ บริษัทต่างๆที่ใหญ่ๆและมีชื่อเสียงจำนวนมากตั้งโรงงานที่นี่ เช่น เกเตอเรท กูเกิล ฯลฯ

สก๊อตต์ ฟลาย ผู้จัดการศูนย์ OSU ที่ Pryor กำลังบรรยายเรื่องราวของศูนย์และนิคมอุตสาหกรรม MidAmerica

ป้ายต้อนรับพวกเรา

อุปกรณ์ฝึก

ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตแอร์คอนดิชั่น ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้


โรงงานนี้ผลิตแอร์ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ส่งให้กับแบรนด์ต่างๆถึง 6 แบรนด์ ทำเองภายในโรงงานทุกกระบวนการยกเว้นตัวคอมเพรสเซอร์ที่สั่งสำเร็จมา